เพื่อชีวิต..ใคร???

วันพุธ, ธันวาคม 07, 2548

กฟผ. หมกเม็ด ???

ผมได้อ่านบทความเรื่อง “กฟผ.” ซึ่งเขียนโดยท่านอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช (ผู้จัดการรายวัน 4 ธันวาคม 2548) แล้วรู้สึกไม่ค่อยสบายใจหลายอย่าง

ที่รู้สึกอย่างนี้ก็เพราะในสายตาของผม ท่านเป็นนักวิชาการที่ผมเคารพนับถือมานาน ขณะเขียนบทความนี้ก็ยังนับถืออยู่ แม้จะไม่เคยรู้จักท่านเป็นส่วนตัวก็ตาม

แต่ในฐานะที่ท่านเป็นประธานคณะกรรมการ กฟผ. และเป็นผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ผมมีข้อมูลและความเห็นที่แตกต่างไปจากท่านรวม 4 ประการ

นี่คือความรู้สึกจริงๆที่ขัดแย้งกันอยู่ในใจของผมเอง ผมอาจจะติดกับความคิดเชิง “อุปถัมภ์” ตามที่ท่านว่าไว้ก็เป็นได้

ต่อไปนี้ ผมจะแจงทีละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ตอนหนึ่งในบทความท่านได้กล่าวว่า “กฟผ.มีหน้าที่ดูแลให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียงโดยไม่มีไฟดับ เท่าที่ผ่านมาก็ทำได้ดี ในรัฐแคลิฟอร์เนียก็ยังมีไฟดับทั่วรัฐ ของเรายังดี และค่าไฟเราก็นับว่าถูกกว่าหลายประเทศรอบบ้าน”

กล่าวอย่างกระชับ ผมเห็นด้วยข้อความเกือบทั้งหมดนี้ แต่สิ่งที่ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ไม่ได้บอกก็คือ ทำไมบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน(หรือที่เรียกกันย่อๆว่าไอพีพี) จึงสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่ กฟผ.ผลิตเองเยอะเลย

กล่าวคือ เฉพาะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียวของ กฟผ.ราคาหน่วยละ 1.59 บาท ในขณะที่ กฟผ. รับซื้อจากบริษัทเอกชน(ซึ่งบวกกำไรแล้ว)เพียง 1.35 บาทต่อหน่วยเท่านั้น (คำนวณโดยใช้ข้อมูลจาก รายงานประจำปีของ บมจ. กฟผ. ปี 2547)

ถ้าคิดต้นทุนที่ไม่ใช่ค่าเชื้อเพลิงแต่เป็นค่าการผลิตไฟฟ้า(ไม่รวมค่าสายส่ง) อีก 0.37 บาทต่อหน่วย รวมเป็น 1.96 บาทต่อหน่วย

สรุปสั้น ๆ ได้ความว่า เฉพาะขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว พบว่าต้นทุนบวกกำไรของบริษัทเอกชนยังต่ำกว่าต้นทุนอย่างเดียวของ กฟผ. ถึง 0.61 บาทต่อหน่วย

ปัจจุบันคนไทยใช้ไฟฟ้าปีละประมาณ 1.25 แสนล้านหน่วย ดังนั้น ทุก ๆ 10 สตางค์ต่อหน่วยที่ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ย่อมหมายถึงเงินจำนวน 1 หมื่น 2 พัน 500 ล้านบาทเลยทีเดียว

การที่ท่านประธานบอร์ด กฟผ. นำค่าไฟฟ้าในประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับของประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ยอมเปรียบเทียบระหว่าง กฟผ. กับบริษัทเอกชนในประเทศไทย(ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจเดียวกัน)เลยนั้น เป็นการให้ข้อมูลเพียงครึ่งเดียว และเป็นการหลีกเลี่ยงการปรับปรุงและพัฒนาตนเองขององค์กร

ผมไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ชัยอนันต์ได้ทราบข้อมูลที่ผมได้กล่าวถึงนี้หรือไม่ แต่นี่คือโจทย์สำคัญมากที่กฟผ.จะต้องนำไปปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรของตน และลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ท่านประธานบอร์ด กฟผ. กล่าวว่า
“ขณะนี้เราใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 70% ที่เหลือเป็นน้ำมันเตาบ้าง และพลังน้ำบ้าง ในสิบปีข้างหน้า เราคงซื้อกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม และน้ำเทินในลาวเพิ่มมากขึ้น ยิ่งโครงการสาละวินเกิดขึ้นในอนาคตด้วยแล้ว เราก็ยิ่งจะได้อาศัยไฟจากเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำจะต่ำกว่าก๊าซ”

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ที่เป็นปัญหาทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะมองในเชิงรัฐศาสตร์หรือเชิงสิ่งแวดล้อมก็ตาม เราจำเป็นต้องมีกรอบความคิดที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้ง 3 ระดับนี้พร้อม ๆ กัน

เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือเขื่อนขนาดใหญ่ ล้วนส่งผลกระทบที่ทำให้โลกร้อนและกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆกันอีกแล้ว

หลายประเทศทั่วโลก จึงได้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน(ซึ่งได้แก่ พลังงานลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล) ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

กระทรวงพลังงานของเราเองรวมทั้งธนาคารโลกก็ได้ศึกษาพบว่าประเทศไทยเรามีศักยภาพที่จะทำกังหันลมได้ถึง 1600 ถึง 3067 เมกกะวัตต์

กฟผ.เองก็ได้ข้อสรุปจากการทดลองที่แหลมพรหมเทพ (จังหวัดภูเก็ต) ว่า “ผลการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ” เมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ยังไม่มีการขยับใดๆ จาก กฟผ.

เวทีประชุมพลังงานหมุนเวียนระดับโลก ทั้งที่เยอรมนี(2004) และปักกิ่ง(2005) ที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของชาวโลก แต่ก็แทบจะไม่มีผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมเลย(ครั้งแรกมี 15 ท่าน แต่เข้าร่วมประชุมเพียงเพื่อฟังรัฐมนตรีของไทยพูด ครั้งที่สองมีระดับรองอธิบดี 1 ท่าน ทั้งๆที่มีการเชิญระดับรัฐมนตรี ไม่มีผู้แทน กฟผ.เลย)

ในขณะที่ประเทศอินเดีย จีน ได้เริ่มต้นไปแล้วเมื่อ 4-5 ปีก่อน ล่าสุดประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้มีฟาร์มกังหันลมขนาด 27 เมกกะวัตต์ไปแล้วเมื่อกลางปีนี้เอง

ต้นทุนการผลิตที่ผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ.อ้างว่ายังแพงมากนั้นก็ไม่เป็นความจริง ปัจจุบัน(2548)ประสิทธิภาพของกังหันลมสูงกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วถึง 200 เท่า
ผลการศึกษาของ American Wind Power Association
http://www.awea.org/pubs/factsheets/EconomicsofWindMarch2002.pdf)
พบว่า ถ้าความเร็วลมเฉลี่ยที่ 7.15 เมตรต่อวินาทีและเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ต้นทุนจะอยู่ที่ 1.50 บาทต่อหน่วยเท่านั้น และสามารถได้ทุนคืนภายใน 8 ปีเท่านั้น

ในด้านการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ไม่ว่าจะเป็นของฟาร์มหมู ก็สามารถคุ้มทุนเชิงการเงินได้ภายใน 4 ปี ถ้านับถึงการลดกลิ่นไปด้วยก็ถือว่าคุ้มเกินคุ้ม

ทั้งกังหันลม ขี้หมู และชีวมวลอื่นๆ องค์กรชุมชนขนาดเล็ก เช่น อบต. ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการเองได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาความยากจน คนว่างงาน และมลพิษอีกด้วย
กฟผ.เองก็ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ามาก

เหตุผลหลักที่โรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เกิดขึ้นก็เพราะ กฟผ. พยายามกีดกันไว้นั่นเอง(หากมีโอกาสจะกล่าวถึงอีกสักบทความต่างหาก)

ประเด็นที่สาม ท่านอาจารย์ชัยอนันต์กล่าวว่า
“การกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นวิธีการทางการทำธุรกิจที่ต้องการระดมทุนที่ไม่มีอัตราดอกเบี้ยเพื่อมาลงทุนในกิจการไฟฟ้า หาก กฟผ.ต้องไปกู้เงินจากธนาคารทั้งภายใน และต่างประเทศมาลงทุนทั้งหมด ค่าดอกเบี้ยก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง สู้ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้”

จากรายงานประจำปี 2547 ของ กฟผ. พบว่า กฟผ. มีกำไรขั้นต้นถึง 52,332 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิหลังหักษีแล้วถึง 28,198 ล้านบาท

สำหรับแผนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ในช่วงปี 2547 -2558 ประเทศเรามีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มปีละ 1,000 เมกกะวัตต์ จากที่เคยวางแผนว่า 1,860 เมกกะวัตต์ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว (ผู้จัดการออนไลน์-20 ตุลาคม 2548)

ถ้าคิดจะลงทุนกันจริงๆ ด้วยกำไรขนาดนี้ ไม่ต้องกู้เงินใครเลยก็ยังสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้มิใช่เหรอครับ

ประเด็นที่สี่ ท่านกล่าวว่า
“การขายหุ้นออกไปเพียง 25% และใน 25% นั้น ต่างชาติซื้อได้เพียง 30% คือหนึ่งในสามจะเรียกว่า ขายสมบัติของชาติได้อย่างไร”

ท่านอาจารย์ไม่ทราบเลยหรือครับว่า ตอนที่ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น กระทรวงการคลังถือหุ้นไว้ถึง 70% แต่อีก 3 ปีต่อมาก็ต้องขายไปอีกจนเหลือเพียง 52%

ท่านอาจารย์ไม่คิดบ้างหรือครับว่า แรงขับเคลื่อนที่ผลักดันให้มีการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ถึงคราว กฟผ. คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าจะขายออกไปสักกี่เปอร์เซ็นต์ แต่อยู่ที่ว่ามีความจำเป็นต้องขายหรือไม่

ถ้าจะลงทุนเพิ่มก็มีเงินกำไรอยู่แล้ว หรือให้เอกชนลงทุนด้วยพลังงานหมุนเวียนก็ยิ่งดีขึ้นอีก
ถ้าคิดจะปรับปรุงประสิทธิภาพหลังการขาย ก็โปรดปรับปรุงเสียแต่เดี๋ยวนี้ นั่นคือทำต้นทุนให้ต่ำลงมาอีก 0.61 บาทต่อหน่วยให้เท่ากับเอกชนไทยก่อน แล้วค่อยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภายหลัง

ทั้งหมดนี้ผมเรียนมาด้วยความเครารพต่อท่านอาจารย์เสมอมา ไม่เคยคิดจะดูหมิ่นแม้แต่น้อย และแอบยังหวังอยู่ลึกๆว่า ท่านจะเป็นจุดเริ่มต้นของพลังการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ในโอกาสต่อไป

โดย Administrator . (ip:202...8) เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2548 14:36:58 น.


ความคิดเห็น

ลำดับที่ 1

ภัควดี
อ.ประสาทคะ อีกประเด็นหนึ่งคือ ไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นถูกแปรรูปเป็นเอกชนไปแล้ว มันถึงได้ดับบ่อย ๆ เรื่องนี้มีอยู่ในข่าวที่ไม่เป็นข่าวของปีก่อนค่ะ ภัคคัดมาให้ดูอีกที

อันดับ 13 ชวาร์ซเนกเกอร์พบกับเคน เลย์ แห่งเอนรอนก่อนการถอดถอนผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย

หนทางแก้ไขความทุกข์ด้านพลังงานของรัฐแคลิฟอร์เนีย ของอาร์โนลด์ ชวาร์ซเนกเกอร์ เป็นแค่เสียงสะท้อนความคิดของนายเคน เลย์ ผู้บริหารบรรษัทเอนรอนอันอื้อฉาว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2001 ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านพลังงานไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีสาเหตุใหญ่มาจากการฉ้อโกงในตลาดพลังงานของเอนรอน ชวาร์ซเนกเกอร์ดอดไปพบกับเลย์เพื่อหารือเกี่ยวกับ การแก้ไข วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีแผนการที่จะลดข้อบังคับโดยสิ้นเชิง ขึ้นค่าไฟ และยุติการตรวจสอบจากรัฐและรัฐบาลกลาง ในขณะที่ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในตอนนั้น นายเกรย์ เดวิส และรองผู้ว่าการครูซ บุสตามันเต กำลังเดินหน้าเพื่อรื้อฟื้นข้อบังคับด้านพลังงานขึ้นมาใหม่ รวมทั้งเรียกคืนเงิน 9 พันล้านดอลลาร์ที่เสียไปกับเอนรอนและโรงไฟฟ้าเอกชนอื่น ๆ ชวาร์ซเนกเกอร์จึงถูกจับเชิดขึ้นมาเพื่อโค่นเดวิสลงจากตำแหน่งด้วยการลงมติถ อดถอน ซึ่งเท่ากับเป็นการสกัดแผนการรื้อฟื้นข้อบังคับและเรียกคืนเงิน

หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ไฟฟ้าดับซ้ำซากในรัฐแคลิฟอร์เนียตลอดปี 2000 เดวิสและบุสตามันเตยื่นฟ้องด้วย กฎหมายการดำเนินธุรกิจโดยมิชอบ ซึ่งจะบังคับให้บริษัทไฟฟ้าทั้งหมด รวมทั้งเอนรอน ต้องจ่ายเงินชดเชยเกือบ 9 พันล้านดอลลาร์คืนแก่พลเมืองชาวแคลิฟอร์เนีย คนหนึ่งที่จะต้องสูญเสียมากที่สุดในคดีนี้ก็คือ นายเคน เลย์ ซีอีโอของเอนรอนนั่นเอง

เลย์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทชิดเชื้อและมีสายสัมพันธ์แนบแน่นยาวนานกับประธานาธิบดีบุ ชและรองประธานาธิบดีเชนีย์ รีบจัดการพบปะกับผู้มีอิทธิพลชาวแคลิฟอร์เนียหลายคนเพื่อหาทางสกัดยับยั้งกา รดำเนินการของเดวิสและบุสตามันเต หนึ่งในคนเหล่านั้นมีอาร์โนลด์ ชวาร์ซเนกเกอร์รวมอยู่ด้วย แขกรับเชิญทั้งหมดได้รับแผ่นพับเล็ก ๆ จำนวน 4 หน้า มีข้อความเรียกร้องให้ยุติการที่รัฐและรัฐบาลกลางเข้ามาตรวจสอบบทบาทของเอนร อนในวิกฤตการณ์พลังงานของแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งเสนอให้โยนภาระความสูญเสีย 9 พันล้านดอลลาร์นั้นไปไว้ที่ผู้บริโภคแทน

หากปล่อยให้เดวิสและบุสตามันเตอยู่ในตำแหน่งต่อไป เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะมีการเปิดโปงการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในวงการบ ริษัทด้านพลังงานและโรงไฟฟ้าเอกชน ที่มีทั้งการปลอมแปลงรายการจ่ายกระแสไฟฟ้า การฮั้วขึ้นราคา การแกล้งปิดโรงงานไฟฟ้าให้กระแสไฟขาดแคลนเพื่อจะได้เป็นข้ออ้างในการขึ้นค่า ไฟ ฯลฯ ดังนั้น ทางออกก็คือต้องหาทางให้มีการลงมติถอดถอนผู้ว่าการเดวิสออกจากตำแหน่ง และดันชวาร์ซเนกเกอร์ขึ้นไปแทน

ตอนนี้ ผู้ว่าการชวาร์ซเนกเกอร์กำลังผลักดันให้เปิดเสรีและลดข้อบังคับในตลาดไฟฟ้าข องแคลิฟอร์เนียมากยิ่งกว่าเดิม กลุ่มผู้บริโภคเตือนว่า การทำเช่นนี้เท่ากับผลักให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเผชิญกับราคาที่พุ่งสูงขึ้น ยิ่งลดการกำกับดูแลจากรัฐก็เท่ากับยิ่งทำให้เกิดการฉ้อโกงในตลาดไฟฟ้ามากขึ้ น ซึ่งนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2000-01

ตลาดไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียดำเนินการแปรรูปให้เอกชนเข้ามาจัดการและแข่งขัน โดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1996 ในสมัยผู้ว่าการรัฐพีท วิลสัน ทันทีที่ยกเลิกเพดานราคาในปี 1999 ภายในปีเดียว ราคาไฟฟ้าพุ่งขึ้นไปถึง 3 เท่า

เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2000 มีคำเตือนว่าไฟฟ้าสำรองของรัฐลดลงต่ำว่า 5% พอถึงเดือนมิถุนายน มีไฟฟ้าดับหลายครั้งในซานฟรานซิสโก ส่งผลกระทบต่อคนหลายพันคน สาเหตุที่ไฟฟ้าดับเกิดจากปริมาณไฟฟ้าสำรองต่ำ เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าหลายแห่งในแคลิฟอร์เนียเหนือปิดทำการพร้อม ๆ กันเพื่อซ่อมบำรุง

เดือนสิงหาคม ผู้ว่าการเดวิสสั่งให้มีการตรวจสอบความเป็นไปได้ว่าจะมีการฮั้วกันขึ้นราคาใ นตลาดไฟฟ้า เดือนธันวาคมมีคำเตือนถึงปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ต่ำเกินไปอีกครั้ง ประชาชนต้องช่วยกันประหยัดพลังงานเพื่อป้องกันไฟฟ้าดับ

เดือนมกราคม ค.ศ. 2001 มีการอนุมัติฉุกเฉินให้ขึ้นราคาไฟฟ้าของบริษัท เอดิสันและพีจีแอนด์อีขึ้นไปอีก 7-15% บริษัทไฟฟ้าทั้งสองแห่งขู่ว่า มันกำลังจะล้มละลายและจะปลดพนักงานออก ในเดือนเดียวกัน มีคำเตือนถึงปัญหาไฟฟ้าอีก เพราะโรงไฟฟ้าหลายแห่งอ้างว่า ขาดแคลนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า พอถึงกลางเดือน มีไฟฟ้าดับหลายครั้ง กระทบต่อประชาชนหลายแสนคนในรัฐแคลิฟอร์เนียตอนเหนือและตอนกลาง

เดือนมีนาคม มีปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งรัฐตลอดทั้งเดือน ปลายเดือน ค่าไฟฟ้าของลูกค้าของสองบริษัทข้างต้นเพิ่มขึ้นถึง 46% วันที่ 7-8 พฤษภาคม มีไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ กระทบประชาชนและห้างร้านถึง 300,000 ครัวเรือน

จาก ภัควดี(ip:203...129) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2548 11:00:10 น.

http://www.fridaycollege.org/index.php?&file=forum&obj=forum.view(cat_id=egat2,id=14)&PHPSESSID=3ee34e669b7ec5a41d5597d5148876fe

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก