เพื่อชีวิต..ใคร???

วันพุธ, ธันวาคม 07, 2548

ผลประโยชน์แอบแฝงมหาศาลด้านโทรคมนาคม

ผลประโยชน์แอบแฝงมหาศาลด้านโทรคมนาคม
อีกหนึ่งสาเหตุในการเร่งแปรรูป กฟผ.

====================================================
มีอะไรอยู่เบื้องหลังธุรกิจด้านโทรคมนาคมที่ บมจ. กฟผ. รีบดำเนินการจัดตั้งแทบจะทันทีหลังจากการแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ธุรกิจด้านนี้จะเป็นประโยชน์กับใคร และประชาชนจะเสียประโยชน์อย่างไร ลองมาฟังกันดูครับ

ธุรกิจด้านโทรคมนาคม ของ บมจ. กฟผ. สำคัญอย่างไร

บมจ. กฟผ. ตั้งบริษัทลูกชื่อ “กฟผ. โทรคมนาคม” หรือ “EGAT Telecom” เพื่อนำเครือข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงที่ดำเนินการติดตั้งไว้ตั้งแต่ก่อนแปรรูปไปให้เอกชนเช่าเพื่อการสื่อสารข้อมูล ปัจจุบันนี้เครือข่ายใยแก้วนำแสงของ บมจ. กฟผ. มีช่องสัญญาณขนาด 155 Mbps (155 ล้าน bps) เชื่อมไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกำลังเร่งขยายช่องสัญญาณขนาดเดียวกันนี้ไปยังภาคใต้และภาคตะวันออกให้เสร็จในระยะเวลาอันใกล้ ก่อนการกระจายหุ้น เครือข่ายใยแก้วนำแสงนี้ ทำอะไรได้บ้าง ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือปัจจุบัน บมจ. กฟผ. มีช่องสัญญาณใหญ่พอที่จะแพร่ภาพโทรทัศน์แบบเดียวกับที่ UBC ใช้แพร่ภาพในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปทั่วประเทศไทย โดยมีความคมชัดระดับ VCD ได้ประมาณ 100 ช่อง (1.5 Mbps ต่อ ช่อง) หรือประมาณ 30 ช่อง ที่ความคมชัดระดับ DVD (5 Mbps ต่อ ช่อง) และสามารถลงทุนขยายช่องสัญญาณเพิ่มขึ้น 64 เท่า ให้มีช่องสัญญาณสูงถึง 9.6 Gbps (9,600 ล้าน bps ซึ่งเท่ากับการแพร่ภาพ VCD 6,400 ช่อง หรือ DVD 1,920 ช่อง) ได้ทันทีด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เครือข่ายใยแก้วนำแสงของ กฟผ. นั้นวางคู่ไปบนระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. เอง ทำให้ต้นทุนด้านการวางเครือข่ายต่ำกว่าผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมรายอื่น และเมื่อเชื่อมกับเครือข่ายใยแก้วนำแสงของ กฟภ. และ กฟน. ซึ่งอยู่บนระบบส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ กฟน. ในลักษณะเดียวกัน จะทำให้เกิดเครือข่ายใยแก้วนำแสงต้นทุนต่ำขนาดใหญ่ที่สุด สามารถให้บริการได้ถึงทุกครัวเรือนในประเทศไทย แม้ว่าการวางเครือข่ายในแก้วนำแสงถึงทุกบ้านโดยตรงนั้นอาจยังไม่คุ้มค่าการลงทุนในปัจจุบัน แต่ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการวางเครือข่ายใยแก้วนำแสงถึงสถานีไฟฟ้าย่อย จากนั้นสามารถส่งข้อมูลผ่านสายไฟฟ้าแรงดันต่ำไปยังบ้านเรือนได้ด้วยเทคโนโลยี Broadband over power lines (BPL) ซึ่งมีช่องสัญญาณประมาณ 3 Mbps หรืออาจวางเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปถึงจุดบริการย่อย และต่อเข้าบ้านเรือนด้วยเทคโนโลยี WiFi (เครือข่ายไร้สาย) ซึ่งมีช่องสัญญาณไม่น้อยกว่า 11 Mbps

จะเห็นได้ว่า ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารภาคพื้นดินผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงที่มีความรวดเร็วและมีความมั่นคงสูง บวกกับความพร้อมของเครือข่ายระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. ทำให้มีข้อได้เปรียบกว่าระบบโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมหลายด้าน เช่น มีการลงทุนที่ต่ำกว่าการสื่อสารผ่านดาวเทียม ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับสภาพอากาศเช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งจะขาดช่วงเมื่อฝนฟ้าคะนองหนัก (ข้อนี้หลายๆ คนที่ดู UBC ผ่านระบบจานดาวเทียมคงจะทราบปัญหาดี) อีกทั้งการสื่อสารผ่านดาวเทียมไปถึงผู้รับบริการรายย่อยเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว ในขณะที่การสื่อสารผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นการสื่อสารแบบสองทาง คือผู้รับบริการรายย่อยสามารถส่งข้อมูลกลับไปยังผู้ให้บริการได้ จึงรองรับการให้บริการประเภท Interactive TV และ Hi-speed Internet ได้ดีกว่า

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าอนาคตของระบบโทรคมนาคมผ่านระบบส่งไฟฟ้าของประเทศไทย มีศักยภาพสูง และถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ก็จะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าระบบสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศให้มีการบริการที่ทั่วถึง และค่าบริการต่ำได้ เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกัน เพราะแค่มีไฟฟ้าเข้าถึง ประชาชนก็จะสามารถรับบริการเคเบิ้ล TV, Interactive TV, Hi-speed Internet ได้ทันที และเมื่อยุคดิจิตอล TV มาถึงในอนาคตอันใกล้ ประโยชน์และผลประโยชน์ที่จะเกิดจากระบบโทรคมนาคมภาคพื้นดินผ่านระบบส่งไฟฟ้าจะมีมากมายมหาศาล และจำเป็นต้องตระเตรียมการควบคุมดูแลกิจการด้านนี้อย่างมีวิสัยทัศน์ไว้ล่วงหน้า เป็นการป้องกันมิให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากคนบางกลุ่ม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ดังที่จะอธิบายในหัวข้อต่อไป

การดำเนินงานด้านโทรคมนาคมผ่านระบบส่งไฟฟ้าให้เป็นธรรมต่อสังคม

ระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. เป็นโครงข่ายภาคพื้นดินที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย ทำให้การวางเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปกับระบบส่งไฟฟ้ามีต้นทุนต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น เนื่องจากไม่มีต้นทุนด้านการเช่าพื้นที่พาดสาย อย่างไรก็ตามโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้านี้มิได้เกิดขึ้นเองหรือได้มาฟรีๆ แต่เกิดจากการเสียสละของประชาชนที่ยอมให้มีสายไฟฟ้าพาดผ่านที่ดิน ซึ่งเป็นผลให้ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถนำไปทำประโยชน์อื่นได้อีก

ในการวางระบบส่งไฟฟ้านี้ กฟผ. ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511

มาตรา 29 ในการส่งและการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ให้ กฟผ. มีอำนาจ

เดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้าไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ปักหรือตั้งเสา สถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่น ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่เป็นที่ตั้งโรงเรือน


ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการส่งพลังงานไฟฟ้า โดยประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และจัดทำเครื่องหมายแสดงไว้ในที่ที่ประกาศกำหนดเขตนั้นตามสมควร


รื้อถอนโรงเรือนหรือทำลายสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้น หรือทำลาย หรือตัด ฟัน ตัดต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้หรือพืชผลในเขตเดินสายไฟฟ้า
… (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511)

ประเด็นสำคัญสำหรับเรื่องนี้เริ่มจาก

- กฟผ. มีอำนาจในการเดินสายใยแก้วนำแสงคู่กับสายส่งไฟฟ้า ไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด หรือไม่

- การดำเนินธุรกิจให้เช่าเครือข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อการสื่อสารข้อมูลนั้นถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่

- การดำเนินธุรกิจให้เช่าเครือข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อการสื่อสารข้อมูลนั้นเป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดิน ซึ่ง กฟผ. ประกาศกำหนดเป็นเขตเดินสายไฟฟ้า หรือไม่

- กฟผ. ควรจะดำเนินธุรกิจให้เช่าเครือข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อการสื่อสารข้อมูลต่อไป หรือไม่ อย่างไร

กฟผ. มีอำนาจในการเดินสายใยแก้วนำแสงคู่กับสายส่งไฟฟ้า ไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด หรือไม่

กฟผ. อาจอ้างได้ว่าการเดินสายใยแก้วนำแสงคู่ไปกับสายส่งไฟฟ้านั้น ใช้ในการสื่อสารข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งไม่ขัดกับมาตรา 29 ที่ให้อำนาจนี้กับ กฟผ. เพื่อการส่งและการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า

กฟผ. ดำเนินธุรกิจให้เช่าเครือข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อการสื่อสารข้อมูลนั้นถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่

การที่ กฟผ. นำช่องสัญญาณส่วนที่เหลือของเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปให้เอกชนเช่าเพื่อสื่อสารข้อมูล ย่อมมิอาจอ้างว่าทำเพื่อการส่งและการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าตามมาตรา 29 ได้อีก การดำเนินการในลักษณะนี้ของ กฟผ. จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

กฟผ. ดำเนินธุรกิจให้เช่าเครือข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อการสื่อสารข้อมูลนั้นเป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดิน ซึ่ง กฟผ. ประกาศกำหนดเป็นเขตเดินสายไฟฟ้า หรือไม่

แม้ว่า กฟผ. จะได้จ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินดังกล่าวตาม มาตรา 30 แล้ว แต่เป็นการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อการเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเพื่อการส่งและการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น เจ้าของที่ดินมิได้ยินยอมให้ กฟผ. เดินสายใยแก้วนำแสงเพื่อการทำธุรกิจให้เช่าสำหรับการสื่อสารข้อมูลแต่อย่างใด การดำเนินธุรกิจนี้ของ กฟผ. จึงไม่เป็นธรรมกับเจ้าของที่ดิน และเจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนเพิ่มเติม

เพื่อความเข้าใจที่ง่าย ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประกอบ หลายคนที่เคยผ่านมาทาง กฟผ. บางกรวย ข้ามสะพานพระราม 7 ไปทางถนนรัชดาภิเษก คงจะเห็นสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่วิ่งผ่านเมืองไป พื้นที่ใดๆ ที่สายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน เจ้าของจะไม่สามารถนำไปทำประโยชน์เช่นสร้างอาคารหรือบ้านเรือนได้ ไม่ว่าที่ดินผืนนั้นจะอยู่ในบริเวณทำเลทองหรือไม่ก็ตาม ประโยชน์ที่เสียไปของเจ้าของที่ดินย่อมมิอาจทดแทนได้อย่างครบถ้วนด้วยเงินค่าทดแทนจาก กฟผ. แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเสียสละของเจ้าของที่ดินเหล่านั้นในฐานะประชาชนเพื่อบริการสาธารณะ คือไฟฟ้า ตอนนี้ลองสมมุติว่าตัวท่านเป็นเจ้าของที่ดินรายหนึ่ง ซึ่งในอีกสิบปีข้างหน้าพบว่ามีการทำธุรกิจให้เช่าสายสื่อสารข้อมูลผ่านที่ดินของท่านไป ซึ่งธุรกิจนี้มีมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่ตัวท่านเองกลับไม่สามารถหาประโยชน์จากที่ดินของท่านได้ การกระทำนี้ถือว่ายุติธรรมดีแล้วหรือไม่

กฟผ. ควรจะดำเนินธุรกิจให้เช่าเครือข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อการสื่อสารข้อมูลต่อไป หรือไม่ อย่างไร

แน่นอนว่าการวางเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปกับระบบส่งไฟฟ้าจะเป็นประโยชน์มหาศาลกับประเทศ แต่ในเรื่องข้อกฎหมายและความเป็นธรรมกับเจ้าของที่ดินที่สายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญและจะต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องและเป็นธรรมอย่างแท้จริงก่อนที่ กฟผ. หรือ บมจ. กฟผ. จะดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคมนี้ต่อไปได้

บทสรุป

ตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว ทั้งระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. และเครือข่ายโทรคมนาคมบนระบบส่งไฟฟ้า เช่นเครือข่ายใยแก้วนำแสงนั้น เป็นการดำเนินการโดยใช้อำนาจตามกฎหมายในการลิดรอนสิทธิของเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ จึงต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 3 ประการ เพื่อให้การดำเนินการเป็นธรรมต่อทุกคนในสังคม ดังนี้

1. กิจการนี้จะต้องทำเพื่องานบริการสาธารณะเท่านั้น

2. ผลประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการนี้จะต้องกลับคืนสู่สาธารณะเท่านั้น

3. กิจการนี้เป็นของสาธารณะ เอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะถือสิทธิความเป็นเจ้าของในกิจการนี้แม้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เพราะการมีสิทธิความเป็นเจ้าของร่วม ย่อมสามารถเรียกร้องผลตอบแทนจากการดำเนินกิจการได้ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินที่ถูกลิดรอนสิทธิ

เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น กิจการระบบส่งไฟฟ้า และเครือข่ายโทรคมนาคมบนระบบส่งไฟฟ้า จะต้องเป็นของและดำเนินการโดยรัฐหรือองค์กรที่รัฐเป็นเจ้าของทั้งหมดเท่านั้น องค์กรของรัฐที่มีเอกชนเป็นหุ้นส่วนไม่มีความชอบธรรมในการเป็นเจ้าของและดำเนินการกิจการเหล่านี้ เพราะการที่รัฐยอมให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งมีหุ้นในองค์กร หมายถึงประชาชนกลุ่มผู้ถือหุ้นมีสิทธิความเป็นเจ้าของในกิจการที่ทำประโยชน์จากการลิดรอนสิทธิในที่ดินของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย ที่ต้องยึดหลักความเสมอภาคของประชาชนทุกคน

ประชาชนทุกคนสามารถเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมตามสิทธิที่มีในระบอบประชาธิปไตย การนิ่งเฉยต่อการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ย่อมหมายถึงการยอมรับในผลที่จะตามมาในอนาคต ในเรื่องระบบส่งไฟฟ้าและเครือข่ายโทรคมนาคมบนระบบส่งไฟฟ้า ของ กฟผ. ก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนขอเสนอทางเลือกที่เป็นธรรม 2 ทางเลือก ให้ท่านทั้งหลายได้นำไปคิดทบทวน และตัดสินใจเลือกเพื่ออนาคตของประเทศไทยร่วมกันครับ

ทางเลือกที่หนึ่ง
ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะให้ระบบส่งไฟฟ้าดำเนินการโดยองค์กรของรัฐที่มีเอกชนเข้ามาถือหุ้น เช่น บมจ. กฟผ. ก็จะต้องดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินใต้สายส่งไฟฟ้า เช่น ให้ บมจ. กฟผ. ซื้อที่ดินใต้สายส่งไฟฟ้าทั้งหมด หรือทำสัญญาเช่าที่ดินใต้สายส่งไฟฟ้า โดยให้ราคาที่เป็นธรรม แปรผันตามผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากระบบส่งไฟฟ้า และเครือข่ายโทรคมนาคมบนระบบส่งไฟฟ้า ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของระบบส่งไฟฟ้า และหมายถึงประชาชนทุกคนจ่ายค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น เพื่อนำไปแบ่งจ่ายให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่โชคดีได้เป็นผู้ถือหุ้น บมจ. กฟผ. ไปตลอดกาล


ทางเลือกที่สอง
ถ้าระบบส่งไฟฟ้า และเครือข่ายโทรคมนาคมบนระบบส่งไฟฟ้า ดำเนินการโดยองค์กรที่รัฐเป็นเจ้าของทั้งหมด เช่น ตั้งองค์กรใหม่ หรือยกเลิกการกระจายหุ้น บมจ. กฟผ. ก็จะเป็นผลให้ระบบส่งไฟฟ้า และเครือข่ายโทรคมนาคมบนระบบส่งไฟฟ้า ยังเป็นกิจการเพื่อสาธารณะโดยสมบูรณ์ และถ้ารัฐบาลส่งเสริมให้การสื่อสารบนเครือข่ายโทรคมนาคมบนระบบส่งไฟฟ้าให้เป็นศูนย์กลางโครงข่ายพื้นฐานด้านการสื่อสารของประเทศ และกำหนดให้นำผลกำไรของเครือข่ายโทรคมนาคมช่วยสนับสนุนการลงทุนของระบบส่งไฟฟ้า ก็จะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยของประเทศไทยถูกลงได้ และเป็นธรรมกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่ดินใต้สายส่งไฟฟ้า เพราะการเสียสละของพวกเขาเหล่านั้นเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ เกิดประโยชน์กลับไปสู่ประชาชนทุกคนรวมถึงตัวพวกเขาเองโดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

ผู้เขียนซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขอใช้สิทธิในการเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เพื่อแสดงถึงสิ่งที่ผู้เขียนคิดเห็นว่าถูกต้อง และคัดค้านสิ่งที่คิดเห็นว่าไม่ถูกต้อง โดยการนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้เพื่อนคนไทยได้รับทราบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทุกท่านจะนำไปตัดสินอนาคตของท่านเองและของประเทศไทยโดยส่วนรวม

พูด และ ทำ ในสิ่งที่ท่านคิดเห็นด้วยตัวท่านเองแล้วว่าถูกต้องเถอะครับ

SPEAK OUT AND DO IT RIGHT, NOT ONLY FOR YOURSELVES BUT ALSO FOR YOUR COUNTRY AND THE NEXT GENERATION

ข้อมูลจาก พนักงานไฟฟ้า 33 และเพื่อน

ข้อสังเกต
1. เมื่อเครือข่ายใยแก้วนำแสงบนระบบส่งไฟฟ้า เข้ามามีบทบาทสำคัญในการการสื่อสารโทรคมนาคมในอนาคตอันใกล้ บทบาทของการสื่อสารผ่านดาวเทียมย่อมลดลง แล้วใครจะเป็นผู้เสียประโยชน์

2. ทำไมทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงนักวิชาการอิสระทั้งหลาย เห็นตรงกันมาตลอดว่าควรแปรรูป กฟผ. เฉพาะส่วนการผลิต เพราะทำให้เกิดการแข่งขันได้ง่าย แต่ให้คงส่วนระบบส่งไฟฟ้าและเขื่อนไว้เป็นของรัฐ เพราะทั้งสองส่วนเป็นสิ่งที่ได้มาด้วยอำนาจทางกฎหมายและการเสียสละของประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งทำให้เกิดการแข่งขันได้ยาก แต่รัฐบาลทักษิณ กลับต้องการให้แปรรูป กฟผ. ทั้งหมด เพื่อให้ เอกชนเข้ามาถือสิทธิความเป็นเจ้าของทั้งในระบบส่งไฟฟ้าและเขื่อน


3. ระบบเครือข่ายใยแก้วนำแสงของ กฟผ. ได้เร่งดำเนินการขยายช่องสัญญาณไปยังภาคต่างๆ จาก 8 Mbps เป็น 155 Mbps ในช่วงไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นการลงทุนที่เกินความต้องการสำหรับการสื่อสารภายในองค์กร และเงินลงทุนนี้ยังถือเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าด้วย กล่าวคือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนช่วยกันจ่ายเงินค่าไฟฟ้าเพิ่มเพื่อขยายช่องสัญญาณเครือข่ายใยแก้วนำแสงให้แล้วเสร็จทันเวลากับการแปรรูป กฟผ. และการตั้งบริษัท กฟผ. โทรคมนาคม เพื่อนำช่องสัญญาณไปให้เอกชนเช่าได้อย่างพอดิบพอดี


4. ในการแปรรูป กฟผ. เป็น บมจ. กฟผ. นั้น คิดราคาสุทธิทางบัญชีของระบบสื่อสารของ กฟผ. ไว้เพียง 2,318.66 ล้านบาท จากราคาทุน 6,356.73 ล้านบาท แต่อนาคตอันสวยหรูของบริษัท กฟผ. โทรคมนาคม เป็นสิ่งที่ผู้บริหาร บมจ. กฟผ. พูดถึงมากที่สุด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ???

http://www.consumerthai.org/egat_board/view.php?id=476

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก